พพ. เพิ่มความเข้มข้นบังคับใช้กฎหมาย BEC เชื่อมความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ

พพ. เพิ่มความเข้มข้นบังคับใช้กฎหมาย BEC เชื่อมความร่วมมือ กรมโยธาฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กทม. สร้างมาตรฐานอาคารใช้พลังงานลดลง 10 – 20% มั่นใจกลไกลงทุนน้อย คืนทุนไม่เกิน 3 ปี ช่วยลดการใช้ไฟฟ้ารวม 13,700 ล้านหน่วย เซฟเงินกว่า 47,000 ล้านบาท เสริมเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต

วันนี้ (25 เมย.2566) นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดการแถลงข่าว เครือข่าย BEC เพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน “Building Energy Code ; BEC ดีต่อโลก ดีต่อคุณ” ร่วมกับ นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร และนายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก และ สถาปนิกสยาม ร่วมกันผลักดันใช้ กฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยจะเริ่มใช้บังคับอาคารก่อสร้างใหม่ หรือปรับปรุงดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ และต้องมีผู้รับรองผลการประเมินด้านพลังงานที่ได้รับการรับรองจาก พพ. เพื่อประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ทั้งนี้ พพ. พร้อมประสานกับหน่วยงานดังกล่าว เร่งขับเคลื่อนกฎหมาย BEC ที่จะเป็นกลไกสำคัญช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคาร โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC จะประหยัดพลังงานได้สูงสุดถึง 10 – 20% ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบอาคาร และการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดการใช้พลังงาน อาทิ ระบบปรับอากาศมาตรฐานเบอร์ 5 คอนกรีตมวลเบา หลอด LED ฉนวนกันความร้อน กระจกเขียวหรือกระจกสองชั้น เป็นต้น โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเพียง 3 – 5 % และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี แต่จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ระยะยาว เนื่องจากอาคารมีอายุการใช้งานนาน 20 – 30 ปี ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าลดลงแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์องค์กรหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญและใส่ใจด้านประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในอาคารเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ยกระดับมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในประเทศ สร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ และในภาพรวมจะช่วยประเทศลดการใช้ไฟฟ้าได้รวมถึง 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท

“ความร่วมมือครั้งนี้ พพ. จะได้ใช้กลไกสนับสนุนของกรมโยธาฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกทม. เร่งขับเคลื่อนกฎหมาย BEC ที่จะช่วยสนับสนุนอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ (1) สถานศึกษา (2) สำนักงาน (3) อาคารโรงมหรสพ (4) อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า (5) อาคารสถานบริการ (6) อาคารชุมนุมคน (7) อาคารโรงแรม (8) สถานพยาบาล และ (9) อาคารชุด ที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป โดยกลไก BEC จะเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างหรือดังแปลงอาคาร ที่ต้องให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และเกิดการใช้พลังงานในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายสุรีย์กล่าว

นายสุรีย์ กล่าวเพิ่มว่า พพ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกฎกระทรวงฯ BEC ดังกล่าว ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจัดฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองแบบอาคารให้กับวิศวกรและสถาปนิก ให้ได้การรับรองจาก พพ. จำนวน 1,200 คน ภายในปี 2566 อบรมให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารตามเกณฑ์ BEC ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งได้อบรมไปแล้วจำนวนกว่า 3,300 คนทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารตามเกณฑ์ BEC ร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐมากกว่า 30 แห่ง รวมทั้งจะดำเนินการมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษพลังงาน (BEC Awards) ให้แก่ อาคารที่ผ่านการตรวจการประเมินแบบอาคาร และมีผลประหยัดสูงกว่าเกณฑ์ BEC สามารถประหยัดพลังงานได้ 30% ขึ้นไป รวมกว่า 140 อาคาร ตั้งแต่ปี 2562- 2565

ติดตามข้อมูลข่าวสารกฏหมาย BEC ได้ที่
BEC Center พพ. โทร 0 2225 2412
https://bec.dede.go.th
www.dede.go.th

Message us