เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารที่ดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานให้กับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างอาคาร (ครั้งที่ 3) ณ ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี เวลา 08.30 -16.30 น. จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ให้เกียรติเปิดงานสัมมนา และกล่าวรายงานโดย นายโสภณ มณีโชติ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน ในครั้งนี้
ตามที่กระทรวงพลังงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถกำกับดูแลและควบคุมการออกแบบอาคารที่ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงานในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้สอดคล้องกับการขออนุญาตเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หรือการดัดแปลง หรือเปลี่ยน การใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เพื่อนำมาใช้บังคับกับการควบคุมอาคาร ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีประกาศให้นำกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับกับการควบคุม อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2565
โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้น ในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป สำหรับอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานหรือที่ทำการ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด อาคารชุมนุมคนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ต้องออกแบบให้อนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎกระทรวงกำหนด
กฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ได้แก่ เจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบอาคารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติแบบอาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง จะต้องมีความเข้าใจในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนแนวทางวิธีการปฏิบัติเพื่อให้สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ดังนั้นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จึงเห็นถึง ความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมดังกล่าว จึงได้จัดโครงการสัมมนาสำหรับเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมอาคารฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารได้เข้าใจและสามารถนำไปดำเนินการต่อไป